วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ธรรมไหลไปสู่ธรรม โดยไม่ต้องตั้งเจตนา

ธรรมไหลไปสู่ธรรม โดยไม่ต้องตั้งเจตนา เป็นประโยคที่ผมได้รับได้ยินมาแล้วมานั่งคิดพิจารณาดูว่า ความหมายของ ธรรมไหลไปสู่ธรรม โดยไม่ต้องตั้งเจตนา คืออะไรกันแน่จึงลองค้นหาดูและได้ความมาว่า...

มีอยู่วาระหนึ่งที่พระพุทธได้ทรงแสดงถึงอาการที่เรียกว่า
“ธรรมไหลไปสู่ธรรม โดยไม่ต้องตั้งเจตนา”
เรามีหน้าที่เพียงแต่ ดูแลเอาใจใส่และรักษาธรรมให้ดีเท่านั้น
อันเป็นมูลเหตุเบื้องต้น
เพราะเมื่อเหตุดีแล้ว ก็จะผลิตดอกออกผลมาเอง
ส่วนจะเร็วหรือช้านั้น ก็เป็นเรื่องของสภาวะธรรมตามธรรมชาติ
ถ้าจะเปรียบเทียบก็เหมือนกับเราปลูกมะม่วงสักต้นหนึ่ง
หน้าที่ของเราคือ รดน้ำ ใส่ปุ๋ย พรวนดิน กำจัดแมลง
ทำอยู่อย่างนั้นนานนับเดือน นับปี
ต้นไม้ก็เจริญเติบโตขึ้นมาเรื่อย ๆ
แล้วในที่สุด ไม่วันใดก็วันหนึ่ง มันจะต้องผลิดอกออกผลขึ้นมา
ปีแรก ๆ อาจจะมีผลิตผลไม่มาก
แต่ปีต่อ ๆ มาก็จะผลิดอกออกผลมากขึ้นเอง
หน้าที่ของเราจึงมีแต่เพียงศึกษาให้รู้ถึงวิธีการบำรุงรักษา และ
ดูแลบำรุงรักษาต้นไม้นั้นให้ดีที่สุดเท่านั้น
เมื่อเราทำเหตุให้ดีแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องห่วงว่าผลจะออกมาอย่างไร
ฉะนั้น ในการปฏิบัติธรรมเราจึงต้องรักษาจิตให้เป็นศีล
มีความพากเพียรในการเจริญสติ และมีสัมปชัญญะ ให้สืบเนื่อง
ติดต่อกันไปอย่างสม่ำเสมอไม่ขาดตอน
ธรรมทั้งหลายทั้งปวงย่อมจะไหลไปสู่ธรรมตามลำดับ
ตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงเบื้องปลาย คือ ความหลุดพ้นจากทุกข์เป็นที่สุด
กล่าวคือ
1. เมื่อศีลสมบูรณ์ ไม่มีโทษทางกายวาจาใจ
ไม่มีการเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นแล้ว ก็ไม่ต้องทำ "เจตนา" ว่า
“อวิปปฏิสาร ความไม่เดือดร้อนใจ จงบังเกิดขึ้นแก่เรา” ข้อนี้เป็นธรรมดาว่า
เมื่อศีลสมบูรณ์แล้ว ความไม่เดือดร้อนใจย่อมเกิดขึ้นเอง
2. เมื่อไม่มีความเดือดร้อนใจแล้วไม่ต้องทำ “เจตนา” ว่า
“ปราโมทย์ ความปลื้มใจ จงบังเกิดแก่เรา” ข้อนี้เป็นธรรมดาว่า
เมื่อไม่มีความเดือดร้อนใจแล้ว ปราโมทย์ย่อมเกิดขึ้นเอง
3. เมื่อปราโมทย์ คือ ความปลื้มใจเกิดขึ้นแล้ว
ไม่ต้องทำ “เจตนา” ว่า “ปีติ ความอิ่มใจ จงบังเกิดแก่เรา” ข้อนี้เป็นธรรมดาว่า
เมื่อความปราโมทย์เกิดขึ้นแล้ว ปีติย่อมเกิดขึ้นเอง
4. เมื่อปีติความอิ่มใจเกิดขึ้นแล้ว ไม่ต้องทำ “เจตนา” ว่า
“กายของเราจงระงับเป็นปัสสัทธิ” ข้อนี้เป็นธรรมดาว่า
เมื่อปีติเกิดขึ้นแล้ว กายย่อมระงับเอง
5. เมื่อกายระงับเป็นปัสสัทธิแล้ว ไม่ต้องทำ “เจตนา” ว่า
“เราจงเสวยสุข” ข้อนี้เป็นธรรมดาว่า
เมื่อกายระงับเป็นปัสสัทธิแล้ว ย่อมเสวยสุขเอง
6. เมื่อมีความสุขแล้วไม่ต้องทำ "เจตนา" ว่า
“จิตของเรา จงตั้งมั่นเป็นสมาธิ” ข้อนี้เป็นธรรมดาว่า
เมื่อมีความสุขแล้ว จิตย่อมตั้งมั่นเป็นสมาธิเอง
7. เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้ว ไม่ต้องทำ "เจตนา" ว่า
“เราจงรู้เห็นตามความเป็นจริง” ข้อนี้เป็นธรรมดาว่า
เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้ว ยถาภูตญาณทัสสนะ
คือความรู้เห็นตามความเป็นจริง ย่อมเกิดขึ้นเอง
8. เมื่อยถาภูตญาณทัสสนะ คือ ความรู้เห็นตามความเป็นจริงเกิดขึ้นแล้ว
ไม่ต้องทำ “เจตนา” ว่า “เราจงเบื่อหน่ายเป็นนิพพิทา” ข้อนี้เป็นธรรมดาว่า
เมื่อรู้เห็นตามความเป็นจริงแล้ว ย่อมเบื่อหน่ายเอง
9. เมื่อเบื่อหน่ายเป็นนิพพิทาแล้ว ไม่ต้องทำ "เจตนา" ว่า
“เราจงคลายกำหนัดเป็นวิราคะ” ข้อนี้เป็นธรรมดาว่า
เมื่อมีความเบื่อหน่ายแล้ว วิราคะ คือ ความคลายกำหนัด ย่อมเกิดขึ้นเอง
10. เมื่อคลายกำหนัดเป็นวิราคะแล้ว ไม่ต้องทำ "เจตนา" ว่า
“เราจงทำให้แจ้งซึ่งวิมุตติญาณทัสสนะ คือ ความรู้เห็นว่าจิตหลุดพ้น
จากอาสวะทั้งหลายแล้ว” ข้อนี้เป็นธรรมดาว่า
เมื่อวิราคะเกิดขึ้นแล้ว วิมุตติญาณทัสสนะย่อมเกิดขึ้นเอง
ด้วยอาการอย่างนี้ เรียกว่า "ธรรมไหลไปสู่ธรรม"
ธรรมย่อมยังธรรมให้เต็ม
เปรียบประดุจกระแสน้ำที่ไหลไปตามลำคลองลงสู่ห้วงมหาสมุทร
น้ำย่อมยังห้วงน้ำให้เต็มได้ฉันใด
ธรรมย่อมยังธรรมให้เต็มได้ฉันนั้น
ผู้ศึกษาและปฏิบัติธรรม จึงควรใช้วิจารณญาณ สังเกตให้เห็นว่า
เราเพียงตั้ง “เจตนา” ในการกระทำให้ถูกต้อง
เป็นสัมมาปฏิบัติก็พอแล้ว
เราไม่ต้องตั้ง “เจตนา” ที่จะคาดหวังให้การกระทำนั้นออกผล
เพราะเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น แถมยังจะทำให้เกิดความกระวนกระวาย
หรือเป็นทุกข์ขึ้นมาอีกด้วย
คนโดยมากมักจะเข้าใจผิดในข้อนี้
นี่แสดงให้เห็นว่า เมื่อรักษาจิต ดำรงจิต และตั้งเจตนาให้ถูกต้อง
ในการกระทำ โดยรักษาศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว
สมาธิ ปัญญา ความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงก็จะเกิดขึ้นเอง
โดยไม่ต้องตั้งเจตนาที่จะให้เกิด
อริยมรรค 8 โพชฌงค์ 7 สติปัฏฐาน 4 และแม้แต่โอวาทปาฏิโมกข์
ก็อยู่ในที่นั้นครบทั้งหมด กล่าวคือ
เมื่อศีลสมบูรณ์แล้ว “การไม่ทำบาปทั้งปวง” ก็จะสมบูรณ์
เมื่อใจเกิดปีติ ปัสสัทธิ สุข และสมาธิแล้ว
ไม่ว่าจะทำอะไร ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมเป็นกุศลไปทั้งหมด
“การทำกุศลให้ถึงพร้อม” ก็จะสมบูรณ์เอง โดยไม่ต้องตั้งใจทำอะไรเป็นพิเศษ
เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง
คือ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างชัดเจน
เกิดความจางคลายไปแห่งตัณหาและราคะ
เป็นการ “ชำระจิตให้ผ่องแผ้ว”
จนกระทั่งเกิดความรู้เห็นว่า จิตหลุดพ้นจากอาสวะทั้งปวง
คือ วิมุตติญาณทัสสนะ ในที่สุด

 
ที่มา : dharma-gateway.com/monk/preach/mitsuo/mitsuo-02-05.htm 
ธรรมไหลไปสู่ธรรม โดยไม่ต้องตั้งเจตนา, ประวัติธรรมไหลไปสู่ธรรม



ไม่มีความคิดเห็น: